วิโรจน์ เจริญตรา นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วาระ พ.ศ. 2567-2568

วิโรจน์ เจริญตรา นายกสมาคม สวจ. เป็นผู้ให้ มากกว่าผู้รับ ร่วมสร้างนวัตกรรมให้แก่วิศวฯ จุฬาฯ


กองบรรณาธิการวารสารอินทาเนียได้มีโอกาสเข้าร่วมพูดคุยกับ วิโรจน์ เจริญตรา วศ.2525 จากผู้บริหารบริษัทรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจรที่เติบโตแบบก้าวกระโดดของวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ใช้ประสบการณ์และความรู้เรื่องงานก่อสร้างช่วยงานสมาคมฯ ในการปรับปรุงหอประชุมคณะวิศวฯ จนสำเร็จในวาระ พ.ศ. 2565-2567 ด้วยศักยภาพและความสามารถทำให้ วิโรจน์ เจริญตรา วศ.2525 ได้รับการเลือกจากรุ่นให้เข้ารับตำแหน่ง นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วาระ พ.ศ. 2567-2568

วิโรจน์ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น ส.ก.100 และสอบเทียบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะชื่นชอบด้านวิศวกรรมโยธาและตั้งใจว่าหลังเรียนจบจากคณะวิศวฯ อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้างที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (The George Washington University) สหรัฐอเมริกา ซึ่งกิจกรรมที่ชอบทำในสมัยเรียนที่คณะวิศวฯ คือ การออกค่ายต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรมเชียร์และรับหน้าที่เป็น Staff ในกิจกรรมนี้

นายกสมาคมฯ คนใหม่ในวาระ พ.ศ. 2567-2568

วิโรจน์ กล่าวว่า เมื่อสมาคมฯ ชุดที่แล้วที่มี พี่หนู ศักดิ์ชัย ยอดวานิช เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายก ได้มีการทาบทามให้ผมเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ ด้วยความที่เห็นว่าผมเป็นวิศวกร ทำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีความรู้ ความชำนาญ มีประสบการณ์ในงานก่อสร้าง หากได้มาร่วมทำงานกันเชื่อว่าจะช่วยสร้างประโยชน์อันดีงามให้กับคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้อย่างแน่นอน

จึงทำให้ในช่วงนั้นได้มีโอกาสเข้ามาช่วยดูแลด้านงานปรับปรุงหอประชุม Hall of INTANIA เป็นหลัก จนโครงการสำเร็จ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุง Hall of INTANIA ในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ที่ได้กลับมาช่วยพัฒนาคณะวิศวฯ จุฬาฯ ของเราชาวอินทาเนีย ส่งต่อให้นิสิต บุคลากรในคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้มีห้องประชุมที่เป็นมากกว่าห้องประชุมที่จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างการเรียนการสอน กิจกรรมดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

และในวาระนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯจุฬาฯ และมีความตั้งใจทำงานต่อเนื่องจากสมาคมฯ ชุดที่แล้วให้แก่คณะวิศวฯ และมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะทำงานตอบแทนบุญคุณคณะวิศวฯ ที่ได้อบรมสั่งสอนเรามาจนประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบันนี้

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สืบสานตามประเพณี มุ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ สวจ.

สำหรับแผนงานแบ่งออกเป็น 2 แผน คือ

  1. แผนงานประจำที่ทำตามประเพณี เช่น งานคืนสู่เหย้า, Intania Dinner Talk, Intania Run และงานประกาศเกียรติคุณวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่นและวิศวจุฬาดีเด่น จะมีการดำเนินตามประเพณีต่อไป
  2. แผนงานที่จะทำในวาระ พ.ศ. 2567-2568 คือ โครงการพิเศษ CU Intania Hub เป็น Digital Transformation เป็น Platform ที่รวบรวมทะเบียนนิสิตเก่าทุกรุ่นประมาณ 50,000 กว่าคน ให้อยู่ใน Platform ช่วยลิงก์ระหว่างนิสิตเก่าทุกรุ่น รวมทั้งเป็นทะเบียนรุ่นให้แต่ละรุ่นสามารถสื่อสารกันเองได้ และสื่อสารข้ามรุ่นได้ สำหรับเชิงวิชาการจะมีสัมมนาผ่าน Platform, Podcast และสัมมนาเชิงวิชาการหรือรุ่นพี่นิสิตเก่าที่มีความรู้หรือประสบความสำเร็จ ทางสมาคมฯ ก็จะเชิญมาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ และทุกคนสามารถรับชมผ่าน Platform ได้ รวมไปถึงเรื่อง Marketplace ถ้าใครมีสินค้าที่น่าสนใจสามารถนำมาจำหน่ายได้ เปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมความคิด นวัตกรรมของนิสิตเก่า พร้อมทั้งยังมีเรื่องของ Job Matching สำหรับนิสิตปัจจุบันที่อยากหางาน หากมีบริษัทไหนที่สนใจสามารถเปิดรับพนักงานก็สามารถ Job Matching กับนิสิตปัจจุบันได้ รวมถึงธุรกิจต่อธุรกิจก็สามารถ Matching กันได้

เป็นการต่อยอดระหว่างศักยภาพของนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน คนที่ประสบความสำเร็จ คนที่กำลังจะประสบความสำเร็จ หรือคนที่กำลังจะเติบโตสามารถนำ Platform มาช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เป็นโครงการที่ สวจ. คิดว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในปีนี้ รวมไปถึงเป็นจุดประสงค์หลักของ สวจ. ที่อยากให้รุ่นพี่ รุ่นน้อง มารู้จักกัน เป็นการสร้างเครื่องมือสื่อสารให้ทุกคนได้สื่อสารกันมากขึ้น

ปัจจุบันมีเครื่องมือสื่อสารก็จริง แต่รุ่นพี่รุ่นน้องอินทาเนียอาจจะไม่ได้อยู่ใน Platform เดียวกันสักเท่าไร เมื่อมี Platform CU Intania Hub จะสามารถรวมทุกคนให้มาอยู่บน Platform เดียวกันได้ อนาคตหากสมาคมฯ อยากประชาสัมพันธ์ข่าวสารหรือกิจกรรม ก็สามารถประชาสัมพันธ์ลงบน Platform นี้ได้เลย ทุกคนจะได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการสมัครร่วมกิจกรรมกับทางสมาคมฯ เช่น Intania Run สามารถสมัครออนไลน์ผ่าน Platform นี้ได้ เป็นโครงการที่เราจะชูธงเนื่องในโอกาสครบรอบ 111 ปี เราคิดและดำเนินการมาหลายเดือนแล้ว รวมไปถึงมีแนวคิดเรื่องงาน Innovation Expo ซึ่งเราจะชูธง 111 ปี เช่นเดียวกัน

ให้ 60% รับ 40%

ผมเป็นคนไม่แฟร์ คุณแม่สอนว่า…ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องให้มากกว่ารับ

รับ 40% ให้ 60% เพราะว่าตรงกลางของทุกคนมักไม่เท่ากัน 50% ของเราอาจจะเป็น 60% ที่คนอื่นคิด ถ้าเราอยู่ในส่วนรวมหากทุกคนคิดรับเพียง 40% จะถือว่าพอดี เป็นหลักการแนวคิดส่วนตัวและใช้สำหรับทำธุรกิจ อะไรที่ทำให้ลูกค้าได้มากกว่าเราจะให้เสมอ เพราะการให้มีความอิ่มเอิบใจ การให้จะมีความสบายใจมากกว่ารับ การรับเป็นเรื่องของตรรกะ เรื่องของเหตุผล ซึ่งผมยึดถือมาโดยตลอด รวมทั้งการยึดถือแนวทางของพระพุทธศาสนา อะไรที่ควรทำก็จะทำ อะไรที่ไม่ควรทำเราก็ไม่ทำ และทำจิตใจให้สบาย นี่คือหลักการที่ผมใช้ทำงานมา ถ้าทำงานรวมกลุ่มกับคนอื่นจะคิดว่าการทำงานคนเดียวอาจทำให้สำเร็จเร็วขึ้น แต่ความสำเร็จร่วมกันเป็นทีมมักจะหอมหวานกว่าเสมอ

วิโรจน์ เจริญตรา วศ.2525

การตั้งคำถามที่ดีจะเปิดกว้างแนวความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ ๆ

อยากให้ทุกคน ให้ ให้มาก โดยยึดหลัก รับ 40% ให้ 60% นึกถึงเป้าประสงค์ขององค์กรเป็นหลัก อย่านึกถึงเรื่องส่วนตัวมากนัก เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ดีเมื่อเราคิดถึงส่วนรวมให้มาก คิดถึงตัวเองให้น้อยลง อาจมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่เป็นเพียงเรื่องของความคิดเห็นเท่านั้น

อยากฝากถึงนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวอินทาเนียทุกคน ให้ติดตามข่าวสารของสมาคมฯ อยากให้มาร่วมงานของสมาคมฯ เยอะ ๆ เช่น งาน Intania Run และอยากให้มาสมัครผ่าน CU Intania Hub รวมถึงพี่ ๆ น้อง ๆ คนไหนที่มีเวลาอยากให้มาช่วยงานสมาคมฯ สนับสนุนเรื่องอื่น ๆ หรือถ้ามีอะไรที่อยากให้สมาคมฯ ปรับปรุงแก้ไขสามารถแจ้งมาได้ ทางเรายินดีที่จะปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ดี ๆ

สำหรับนิสิตปัจจุบันที่กำลังศึกษาอยากฝากให้มีความคิดที่เปิดกว้างและยืดหยุ่น เพราะโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก การยืดหยุ่น การปรับตัว ให้เข้ากับสภาพปัจจุบันถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ในยุคปัจจุบันจะอยู่รอดยาก เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก อย่าให้ความสนใจเฉพาะเรื่องในตำรา ต้องมีการพบปะสังสรรค์กับพี่ ๆ น้อง ๆ บ้าง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเทร็นด์ต่าง ๆ ในอนาคตจะต้องปรับตัวให้ได้ ซึ่งสมรรถนะในการปรับตัวคือกุญแจหลักที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ

นายกวิโรจน์ กล่าวส่งท้ายว่า ขอแสดงความยินดีแก่คณะวิศวฯ จุฬาฯ ในโอกาสครบรอบ 111 ปี ซึ่งเป็นคณะที่เก่าแก่และเป็นฐานหลักสำคัญที่ผลิตบุคลากรชั้นนำของประเทศ ขอให้คณะวิศวฯ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการผลิตบุคลากรที่ดีต่อไป รวมถึงการช่วยเหลือสังคม สิ่งแวดล้อม อนาคตอันใกล้นี้โลกเราจะเปลี่ยนไปมากและเด็กรุ่นใหม่มีความคิดเรื่อง Sustainability อยากฝากไว้ เรื่อง Knowledge เป็นเรื่องที่หาได้อยู่แล้ว แต่ต้องรู้จักที่จะตั้งคำถามมากกว่าหาคำตอบ เด็กรุ่นใหม่ อาจารย์และครูอาจไม่ได้ให้ตอบคำถามแล้ว แต่ให้ช่วยกันตั้งคำถามมากกว่า เพราะคำตอบหาได้ไม่ยาก แต่คนที่ตั้งคำถามได้ดีคือ คนที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save