เที่ยวสุโขทัย

สุโขทัย (2) รุ่งอรุณแห่งความสุข อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – ก๋วยเตี๋ยวลุงพุธ


รื้อฟื้นความรู้วิชาประวัติศาสตร์กันหน่อย

คงจำกันได้ว่า เมื่อราว พ.ศ. 1800 เมื่อพระยาศรีนาวนัมถม บิดาพ่อขุนผาเมือง ปกครองเมืองสุโขทัย ต่อมาอาณาจักรขอมได้เข้ายึดเมือง ขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้ยึดเมืองคืนมาและสร้างเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี ขุนบางกลางหาวต่อมามีพระนามใหม่ว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองสุโขทัย อาณาจักรแห่งแรกของไทย

สุโขทัย

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้แผ่อาณาจักรออกไปกว้างขวางปกคลุมเขตประเทศไทยเกือบทั้งหมด บ้านเมืองเจริญในทุก ๆ ด้าน ประวัติศาสตร์ กฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี ทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อ พ.ศ. 1826 อักษรไทยได้ถูกจารึกไว้ในแผ่นศิลา เป็นหลักฐานสำคัญให้ทราบถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักร

สุโขทัย มาจากคำว่า สุข + อุทัย หมายถึง “รุ่งอรุณแห่งความสุข”  ยามเช้าเราจึงไม่ควรพลาดโอกาสค้นหาความจริง เจอแน่นอนคืออากาศบริสุทธิ์ สูดกันเต็มปอดเลย แนะนำให้พกรองเท้าวิ่งติดมาด้วย เลือกพักออกไปนอกเมือง…อย่างอำเภอทุ่งเสลี่ยม ที่เล่าไปในฉบับที่แล้ว ตื่นเช้าออกไปเดิน ไปวิ่งช้า ๆ สำรวจเส้นทางรอบชุมชน ระยะทางกำลังพอดี 7 กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามถนนหลักที่จะไปอำเภอเถิน แล้วเลี้ยวผ่านโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยมหรือจะเข้าตลาดสดก็ไม่ไกลมากนัก อากาศเย็นสบาย รถน้อย ผิวถนนราบเรียบ ทักทายชาวบ้าน นักวิ่ง นักจักรยานท้องถิ่น เห็นวิถีชีวิตเช้า ๆ เยี่ยมเลยสำหรับ Morning Jogging

อำเภอทุ่งเสลี่ยมมีรีสอร์ตสวย ๆ น่ารักกะทัดรัดหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “ต้นฝนรีสอร์ต” ของคุณกุศล สันติธรรม เพื่อนรักสมัยชั้นประถม ค่อย ๆ บรรจงปั้นแต่งท้องทุ่งนาจนได้เรือนรับรองท่ามกลางบรรยากาศสวนไม้ดอกกลางชุมชนของอำเภอ..ไม่ห่างไกลจากจุดเช็คอินของอำเภอและ 3 วัดเก่าแก่ที่เขียนลงฉบับที่แล้ว ที่ต้องไปกราบไหว้

หลังอาหารเช้า ตรงกลับเข้าเมือง โปรแกรมท่องเที่ยววันนี้คือการเข้าชม 2 อุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ใน 1 วัน ซึ่งสามารถทำได้อย่างสบาย ๆ ถ้าบริหารจัดตารางเวลาและเส้นทางไปเฉพาะไฮไลต์ให้ดี ๆ และจำเป็นต้องนั่งรถรางพาวน แวะเดินลงเก็บรายละเอียดทั่วบริเวณเมืองหลวงแห่งแรกของชนชาติไทย ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 2 กิโลเมตร กว้าง 1.6 กิโลเมตร เป็นกำแพงพูนดิน 3 ชั้น ขุดเอาดินขึ้นมาถมเป็นกำแพง พื้นดินที่ขุดเป็นคูน้ำไว้ใช้สอยและเป็นกำแพงน้ำขึ้นอีก 2 ชั้น มีประตูเมือง 4 ประตู  ภายนอกกำแพงเมืองในรัศมี 5 กิโลเมตร มีโบราณสถานประมาณ 70 แห่ง สร้างขึ้นไว้ในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือ วัดมหาธาตุ

จังหวัดสุโขทัย ค้นพบหลักฐานการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในเขตอำเภอศรีนคร อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอคีรีมาศ อยู่ต่อเนื่องกันและตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นจนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 (พ.ศ. 1100 เป็นต้นมา) ชุมชนบริเวณนี้ติดต่อกับดินแดนอื่น ๆ ในแถบบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานวัฒนธรรมแบบทวารวดี โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดชมชื่น อำเภอศรีสัชนาลัยหลักฐานทางศิลปกรรมในเขตเมืองเก่าสุโขทัยที่ศาลตาผาแดง และปรางค์เขาปู่จาในเขตอำเภอคีรีมาศ เป็น หลักฐานการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณในราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1700 เป็นต้นมา) ซึ่งต่อมาเป็นบรรพชนของคนไทยในปัจจุบัน

วัดที่ควรแวะชม

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ

เป็นวัดใหญ่อยู่กลางเมือง สร้างสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่าง ๆ รวมถึง 200 องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุมด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ที่ด้านเหนือและด้าน ใต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า “พระอัฏฐารส” ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า “ขอมดำดิน” ที่พวกเราเรียนในชั้นประถมอีกด้วย

วัดศรีสวาย

วัดศรีสวาย

ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ โบราณสถานสำคัญในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปแบบศิลปะลพบุรี ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ลวดลายปูนปั้นบางเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน ได้พบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วแปลงเป็นพุทธสถานโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า แล้วเป็นวัดในพุทธศาสนาภายหลัง

วัดศรีชุม

วัดศรีชุม

ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระอจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และลักษณะของวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระอจนะนั้น สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายใน และเดินขึ้นไปตามบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ สามารถขึ้นไปถึงผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่ แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี บนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่แกะสลักลวดลายต่าง ๆ 50 ภาพ เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ ที่วิหารวัดศรีชุมมีความเร้นลับซ่อนอยู่ ตามคำบอกเล่ากันมาว่า พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญ เพราะผนังด้านข้าง ขององค์พระอจนะมีช่องเล็ก ๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้และพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ เสียงจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม

ส่วนเมืองคู่แฝด เชลียงหรือศรีสัชนาลัยก็ต้องแวะไปดู 3 แห่งในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ที่ห่างออกไป 55 กิโลเมตร แนะนำให้เข้าไปดังนี้คือ

  1. วัดช้างล้อม (เปรียบเป็นวัดพระมหาธาตุตั้งอยู่ใจกลางเมือง) มีพระเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ก่อจากศิลาแลงประดับด้วยรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบ
  2. วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตรงข้ามวัดช้างล้อม มีสถาปัตยกรรมเจดีย์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบศิลปะขอม ศิลปะล้านนา ศิลปะพุกามของพม่า มีพระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม (เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับเก็บพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายศรีสัชนาลัย จึงได้สร้างพระเจดีย์จำนวนมากในลักษณะเจดีย์รายล้อม
  3. วัดนางพญา ซึ่งมีภาพลายปูนปั้นประดับผนังวิหารที่งดงามมาก

ก่อนกลับก็เข้าไปกราบไหว้พระร่วง พระลือ ที่อุโบสถเก่าวัดพระศรีมหาธาตุเป็นครบจบบริบูรณ์ศรีสัชนาลัย

อาหารกลางวันแนะนำให้แวะชิมก๋วยเตี๋ยวตาพุธ ปีที่ผมไปตาพุธย่างเข้า 92 ปีแล้ว แต่ยังออกมายืนตีแป้งทำเส้นบะหมี่เอง ร้านอยู่ในสวนริมคลองอำเภอศรีสำโรง ลูกค้าแน่นทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว แม้จะอยู่ลึกจากถนนใหญ่ รถเก๋งก็ดั้นด้นเข้ามา ถ้ามาสุโขทัยต้องเข้าไปศรีสำโรง รสชาติออกหวานนำ แต่ก็อร่อยนัวแบบดั้งเดิม ต้มยำถั่วลิสงตำปนในน้ำซุปขุ่น ถั่วฝักยาว ผักชีฝรั่งโรย ใกล้เคียงก๋วยเตี๋ยวเมืองตาก ที่มีแคบหมูและหัวไชโป๊ซอย ก็ถือว่าอร่อยกินได้ครับ ที่สำคัญชามละ 25 บาท (ปัจจุบันนี้น่าจะ 30-35 บาท) น่ายกย่องชมเชยที่ร้านตาพุธยืนหยัดสู้กับต้นทุนเพื่อลูกค้าจริง ๆ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก กลุ่มครอบครัวและวัยรุ่นสะพายเป้ รวมทั้งชาวต่างชาติที่มาตามลายแทงโผของ Lonely Planet… จบทริปในวันที่ 2

ส่วนโปรแกรมวันที่ 3 ควรไปตะลอนย่านเมืองโบราณบางขลัง ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้สุโขทัยและศรีสัชนาลัย พื้นที่เขตเมืองกว้าง 700 เมตร ยาว 1,600 เมตร มีโบราณสถานเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล สมัยพุทธศักราชที่ 19 เข้าไปไหว้พระขาวเนรมิตในอุโบสถใหม่ วัดโบสถ์ รวมทั้งกราบพระ 3 พี่น้องที่ชาวบ้านอัญเชิญกลับมาที่เจดีย์เดิม ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เก็บภาพ เดินอ่านประวัติศาสตร์ให้สมควรแก่เวลาจนพอใจ ค่อยฝ่าแดดร้อนไม่ให้เหนื่อยอ่อนมากมาย แล้วแวะไปซื้อหาผ้าไหม เสื้อผ้าพื้นเมืองของหาดเสี้ยว ตำบลในอำเภอศรีสัชนาลัย เข้าไปเดินดูของโบราณล้ำค่าที่สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมทองคำ เป็นอันจบทริปอย่างครบถ้วน

แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ เที่ยวกับอินทาเนีย (Journey & Yummy) โดย สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ วศ.17


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save