สังคมวิศวฯ จุฬาฯ

เมื่อเพื่อนลำบาก เราช่วยกันดูแล คุณสมชาย จิตตวิสุทธิวงศ์ ประธานรุ่น และ คุณเสถียร พรยืนยง วศ.2519


ความรักและการเกื้อกูลกันเป็นคุณสมบัติสำคัญอันหนึ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาในสังคมวิศวฯ จุฬาฯ ภายใต้คำขวัญทั้ง 5 ของจุฬาฯ น้ำใจคือ 1 ใน 5 คำขวัญ ที่พี่น้องชาวปราสาทแดงจะมีให้ เพื่อน พี่ น้อง เสมอในยามที่ลำบาก

วารสารอินทาเนียได้รับทราบกรณีหนึ่งที่รุ่น วศ.2519 ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อนที่ป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ โดยมอบเงินช่วยค่ารักษาและส่งลูกเพื่อนเรียนจนจบเป็นแพทย์และสามารถกลับมาดูแลครอบครัวได้ อินทาเนียจึงนัดพบประธานรุ่น วศ.19 และเพื่อนที่เป็นแกนในการดูแลช่วยเหลือเพื่อนในกรณีนี้ เพื่อขอแบ่งปันเรื่องราวให้ชาวอินทาเนียและบุคคลทั่วไปได้รับทราบ

สมนึกวิศวฯ 2519

“สวัสดีครับคุณอาเสถียรและเพื่อน ๆ พ่อสมนึกวิศวฯ 2519 ทุกท่าน วันนี้เเพทยสภาได้ประกาศชื่อนายเเพทย์และเลขประกอบวิชาชีพอย่างเป็นทางการเรียบร้อยเเล้วครับ ผมขอขอบคุณเพื่อน ๆ พ่อสมนึกทุกท่านที่คอยช่วยเหลือพ่อสมนึกและครอบครัวผมมาตลอดตั้งเเต่ช่วงผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 จนมาถึงวันนี้ประสบความสำเร็จในชีวิต เรียนจบเเพทย์และมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ผมขอขอบคุณเพื่อน ๆ พ่อสมนึกทุกคนมาก ๆ นะครับ” (นายแพทย์รณวัฒน์ แสงพานิชย์)

สมชาย จิตตวิสุทธิวงศ์
สมชาย จิตตวิสุทธิวงศ์

สมชาย จิตตวิสุทธิวงศ์

รุ่นของผมคือรุ่นที่เข้าเรียนที่คณะใน พ.ศ. 2519 วศ.2519 รวมตัวกันหลังจากเรียนจบมาได้ 3 ปี มีประธานรุ่นมาแล้วน่าจะประมาณ 20 คน กรรมการทุกรุ่นจะจัดกิจกรรมหาทุนเข้ารุ่น เพื่อดำเนินกิจกรรมและเตรียมไว้ช่วยเพื่อน โดยจัดกอล์ฟบ้าง โบว์ลิ่งบ้าง บางครั้งเพื่อนก็ช่วยลงขันกันเองเข้ากองทุนรุ่นโดยตรงในงานเลี้ยงรุ่น คณะกรรมการรุ่นจะคอยสอดส่อง รับฟังจากกลุ่มเพื่อนว่ามีเพื่อนคนใดบ้างที่เดือดร้อน โดยปกติจะเป็นเพื่อนในกรุ๊ปช่วยกันก่อน ถ้าเดือดร้อนมาก กรุ๊ปก็จะหารือมาที่กรรมการ แล้วพิจารณาช่วยกันไป

กรณีที่วารสารอินทาเนียสนใจเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ป่วยเป็นเบาหวาน เป็นมากจนทำงานไม่ได้ ญาติพี่น้องเกื้อกูลได้ไม่มากนัก เพื่อนในกรุ๊ป R ซึ่งมี เสถียร พรยืนยง เป็นแกนนำ จึงเข้ามาช่วยดูและหารือกรรมการรุ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนท่านนี้ คุณเสถียรเล่าว่า สมนึกเป็นเพื่อนที่มีความผูกพันกันครับ ตอนนั้นเขาอายุประมาณ 29 ปี ได้ เขารู้สึกเบื่อ ๆ กับลักษณะงานที่ทำอยู่ พอดีผมกำลังสร้างโรงงานใหม่ สมนึกก็เป็นวิศวกรโยธา เลยชวนมาเป็นที่ปรึกษาช่วยดูแลงานก่อสร้างโรงงานซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง ช่วงนั้นสมนึกสนิทกับพ่อผมมาก จบงานก่อสร้างโรงงานแล้ว สมนึกก็ไปรับงานที่ปรึกษาโครงการอื่น แล้วไม่ค่อยได้ติดต่อกัน สิบกว่าปีก่อนสมนึกเริ่มป่วยเป็นเบาหวานแบบไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีไตก็เสื่อมแล้วต้องฟอกไต และรักษาที่โรงพยาบาลด้วยสิทธิบัตรทอง สมนึกเองไม่ได้ร่ำรวย บ้านอยู่อุตรดิตถ์ พอป่วยก็ย้ายกลับไปรักษาตัวที่บ้านที่อุตรดิตถ์ เนื่องจากทำงานไม่ได้ พี่น้องช่วยเหลือได้ตามสมควร สมนึกต้องทยอยขายทรัพย์สินออกไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาตัว จน ค.ศ. 2020 สมนึกได้ติดต่อผมมาและได้เล่าถึงสุขภาพของตนเองให้ฟัง ผมหารือกับเพื่อนในกรุ๊ป R และพากันไปเยี่ยม จึงได้ทราบว่าเงินไม่พอใช้ เพราะใน 1 เดือน จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาถึง 15,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเดินทาง ค่าล้างไต และค่ายาต่าง ๆ ซึ่งเขาต้องเดินทางไปหาหมอ 6 วันต่ออาทิตย์ ความที่เป็นเบาหวานแล้วประสบอุบัติเหตุ มีวันล้างแผลและวันฟอกไตซึ่งเป็นคนละวันกัน ล้างไต 3 วัน และล้างแผลอีก 3 วัน ทำต่อเนื่อง 4-5 ปี

สมนึกมีลูก 2 คน คนโตตอนนั้นเรียนแพทย์ที่ขอนแก่นปี 2 ยังไม่มีรายได้ ลูกคนเล็ก 8 ขวบ สมนึกมีภาระรอบด้าน เพื่อนในกรุ๊ปจึงจัดระดมทุนช่วย ครั้งนั้นได้เงินมาประมาณ 200,000 กว่าบาท พร้อมกันพี่เสน่ห์ได้หารือกรรมการรุ่นได้กองทุนรุ่นมาช่วยส่งลูกเรียนอีกเดือนละ 10,000 บาท เงินก้อนที่ระดมให้ไม่นานก็หมดไป สมนึกก็ต้องขอยืมเงินคนรอบข้างมาเป็นค่ารักษา กรุ๊ป R จึงช่วยเพิ่มอีก 5,000 บาท จาก 10,000 เป็นเงินกองทุนของรุ่น เป็นจำนวน 15,000 บาทต่อเดือน เราก็ให้ความช่วยเหลือมาเรื่อย ๆ ส่วนของรุ่นเรามีกฎ ว่าจะช่วยเหลือจนลูกเรียนจบ เพื่อสามารถมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้

เสถียร พรยืนยง
เสถียร พรยืนยง

เสถียร พรยืนยง

ในช่วงที่ลูกเขาเรียนหมอ รุ่นยังได้ช่วยสนับสนุนเงินและค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น คอมพิวเตอร์ รุ่นมีตัวแทนที่จะขออนุมัติจากกรรมการรุ่นและรายงานทุก ๆ เดือน เพื่อนท่านนี้เราได้ดูแลทั้งพ่อและลูก เพราะว่าคุณพ่อเขาไม่มีรายได้ และลูกเรียนหมอ เราเห็นในความเก่งและพยายามของลูกเขา และเรียนหมอค่าใช้จ่ายสูง เราจึงคิดว่าต้องส่งเสียและให้ความช่วยเหลือเขาตามที่เราจะทำได้ ซึ่งน้องเขาเก่งไม่ได้ใช้แค่เงินที่เรามอบให้ เขายังได้ทุนและสามารถดูแลตัวเองได้ พวกเราจึงตั้งใจว่าให้น้องเขาเรียนจบและพวกเราค่อยหยุดให้เงินที่สนับสนุนเขา เป็นไปตามที่เราคุยกัน ช่วงนั้นเรื่องการเงินส่วนที่ 2 ผมเป็นผู้ดูแลและโอนให้เขาไปใช้จ่าย

สมนึกจากพวกเราไปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปีที่แล้ว ที่วางแผนไว้เราจะส่งเงินให้เขาถึงสิ้นปีนี้ เมื่อจากไปก่อนเราจึงนำเงินก้อนนี้ส่งให้แก่ลูกชายเขาซึ่งเขาจะเริ่มได้เงินเดือนในเดือนมิถุนายนนี้ เราจึงจะโอนเงินทุนการศึกษาให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนสุดท้าย

นายแพทย์รณวัฒน์ แสงพานิชย์
นายแพทย์รณวัฒน์ แสงพานิชย์

“สวัสดีครับอาเสถียรผม ขอขอบคุณคุณอาและเพื่อน ๆ พ่อสมนึกมาก ๆ นะครับที่คอยช่วยเหลือครอบครัวของผมมาตลอดนะครับ ถ้าพ่ออยู่ พ่อคงดีใจมาก ที่เห็นความสำเร็จของลูก ผมจะขอเป็นหมอที่ดี มีจิตอาสารับใช้ประชาชน”

ตอนนี้เขาเป็นหมอเต็มตัวแล้วและกำลังทำงานใช้ทุนที่จังหวัดอุดรธานี 3 ปี ปีแรกอยู่ในตัวเมือง อีก 2 ปีอยู่ในต่างอำเภอที่ไกลออกไป ซึ่งอนาคตเขาจะพยายามพาน้องสาวที่อยู่จังหวัดศรีสะเกษมาอยู่ที่ขอนแก่นด้วยเพราะเป็นเมืองใหญ่ จะได้เรียนหนังสือ ซึ่งเรารู้สึกดีที่เมื่อทำงานแล้วก็อยากดูแลน้องสาวและแม่ให้ดี

บทบาทของรุ่น 60

คุณสมชาย วศ.2519 ดูแลเพื่อนมาหลายคน ตอนจบมาสัก 10 ปีก็มีกรณีเพื่อนคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุจนโคม่า เราก็เริ่มช่วยเพื่อนมาตั้งแต่ตอนนั้น ดูแลพ่อ ส่งลูกเรียน ตอนนั้นนารีเป็นคนคอยดูแลจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย ตอนหลังนารีจากไปก็เป็น อ้อย ทัศนีย์นารถ มาดูแลแทน จากนั้นเราก็มีกรณีเพื่อนคนหนึ่งเสียชีวิตกะทันหันไม่ได้เตรียมการไว้ รุ่นก็ส่งลูกเรียนหนังสือ และมีกรณีเพื่อนป่วยติดเตียงที่รุ่นดูแลอีก 1 คน

มี สุขเกษม อีกคนที่เป็นที่รักของเพื่อน ๆ เขาป่วยเป็นมะเร็งตับ รักษาด้วยสิทธิประกันสังคม การรักษาก็เป็นไปตามสิทธิ พออาการหนักขึ้น เพื่อนในรุ่นคนหนึ่งชื่อ กาญจนะ รู้เข้า ก็วิ่งเต้นจนได้มารักษาที่โรงพยาบาลรามา มี จิ๊ด ไกรวุฒิ มาคอยดูแล พร้อมกับเพื่อนอีกหลาย ๆ คน เช่น เปิ้ล ปทุมทิพย์ จิ๊ดเองก็เป็นมะเร็งตับ แต่มี โยธิน คอยเกื้อกูลอยู่ นี่เป็นความผูกพันที่เพื่อนดูแลเพื่อนที่สวยงามตามวัฒนธรรมของวิศวฯ จุฬาฯ ตอนนั้นรุ่นระดมทุนช่วยสุขเกษมได้ประมาณ 500,000 บาท เพื่อนนำเงินไปให้ สุขเกษม ไม่รับ บอกว่าให้เก็บไว้ที่รุ่น ต้องใช้จะบอกนารีเอง พอสุขเกษมจากไปมีเงินเหลือ รุ่นนำเงินไปให้ภรรยา ทางบ้านสุขเกษมไม่ขอรับ บอกว่าเพื่อนช่วยมามากแล้ว รุ่นจึงมีมติให้นำเงินนี้ไปช่วยจิ๊ด แต่ ณ ตอนนั้นอาการหนักขึ้นแล้ว ในที่สุดจิ๊ดก็จากไปอีกคน

พวกเราเข้ามาในคณะวิศวฯ พ.ศ. 2519 (วศ.60) ทุกวันนี้เชื่อมโยงกันระหว่างกรุ๊ปต่าง ๆ ผ่านไลน์ รุ่นจะมีกิจกรรมประจำทุกปี ตั้งแต่จัดงานเลี้ยงรุ่น ซึ่งจะมากันใกล้ ๆ 200 คน ทำบุญให้เพื่อนที่ล่วงลับไปแล้วปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะมีเพื่อนมาร่วมทำบุญประมาณ 40 คน กอล์ฟของรุ่นซึ่งจัดปีละหลายครั้ง กล่าวได้ว่ากอล์ฟรุ่น 19 เข้มแข็งมากรุ่นหนึ่งในวิศวฯ ของเรา มีการจัดกอล์ฟหาทุน จัด Dinner Talk หาทุน สะสมทุนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ลำบาก ซึ่งมีเงินกองกลางอยู่ส่วนหนึ่งแต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ กรรมการไม่ค่อยอนุมัติให้นำมาใช้ไ ซึ่งหากมีเพื่อนเจ็บป่วยหรือมีกิจกรรมพิเศษเรามักจะระดมทุนขึ้นมาต่างหาก เช่น การระดมทุนเพื่อตั้งกองทุนจุฬา 19 ซึ่งได้เงินจากพวกเราประมาณล้านเศษ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบเงินกองกลางซึ่งฝากในบัญชีออมทรัพย์เพื่อนำมาใช้จ่ายประจำต่าง ๆ เช่น งานศพ และงานทำบุญสำหรับเพื่อน ๆ ซึ่งเงินเราก็มีพอสมควรที่จะสามารถช่วงเหลือได้ ปีนี้คิดว่าไม่จำเป็นต้องหา แต่พอเราจัดเลี้ยงรุ่นจะมีเงินเข้ามาช่วย นอกจากนี้มีส่วนที่เราเตรียมไว้สำหรับสนับสนุนสมาคม คณะวิศวฯ และจุฬาฯ เช่น งานเลี้ยงคืนสู่เหย้าของคณะวิศวฯ ในแต่ละรุ่นจะต้องมีส่งเงินไปช่วยงาน เช่น ซื้อบัตร ซื้อโต๊ะ ซื้อซุ้มอาหารต่าง ๆ รวมไปถึงร่วมกิจกรรมกอล์ฟของคณะและจุฬาฯ ซึ่งเงินที่เรามีจะถูกใช้ไปกับกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ รายได้หลัก ๆ ของเราจะมาจากกิจกรรมเลี้ยงรุ่นและกิจกรรมกอล์ฟเป็นหลัก

ข้อคิดที่อยากฝากถึงรุ่นอื่น ๆ

คุณสมชาย ฝากทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนพยายามรวมตัวกันไว้ให้เหนียวแน่น มาเจอกันบ้าง มีอะไรจะได้ช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องที่ต้องช่วยเหลือกันทุกคนจะไม่มองกันที่ฐานะหรือตำแหน่ง เป็นเพื่อนเดือดร้อนควรบอกกัน บางคนก็ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ เราต้องคอยถามถึงความเป็นอยู่สารทุกข์สุขดิบกัน เราต้องคอยหมั่นดู หมั่นติดตาม โดยเว้นระยะห่าง เพราะทุกคนจะมีโลกส่วนตัวของตัวเอง ซึ่งในแต่ละรุ่นก็จะมีกิจกรรมที่ไม่เหมือนกัน อย่างรุ่นก่อนผมจะมีกิจกรรมท่องเที่ยว รุ่นเราจะมีบางกลุ่มที่สนิทก็จะรวมกลุ่มไปด้วยกัน และสิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนทำร่วมกันคือ พบปะสังสรรค์ การติดต่อซึ่งกันและกัน ซึ่งในสมัยนี้ง่ายมาก ๆ เพราะมีโซเชียลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Line Facebook ยิ่งทำให้สื่อสารและเจอกันง่ายมากขึ้น มีอะไรจะได้ให้ความช่วยเหลืออย่างที่กล่าวไป…ครับ


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save