แก้วิกฤตการณ์ภูมิอากาศด้วยวิศวกรรม...ทำได้หรือ? และ...ทำทันไหม? (1)

แก้วิกฤตการณ์ภูมิอากาศด้วยวิศวกรรม…ทำได้หรือ? และ…ทำทันไหม? (1)


สถานการณ์โลกร้อนวิวัฒนาการเป็นสถานการณ์โลกเดือดไปแล้วในหลายภูมิภาค สำหรับประเทศไทยเราเองก็เริ่มคุ้นชินกับการได้ยินระดับอุณภูมิ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ฤดูหนาวที่หดสั้นโดยมีอากาศเย็น ๆ ให้รู้สึกบ้างเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ส่วนฤดูร้อนแล้งกลับยาวนาน ซ้ำเติมด้วยปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ที่อยู่ในระดับสูงเกือบทั่วประเทศ ยกเว้นแถบภาคใต้ที่ลมพัดแรงและฝนชุกเท่านั้น

ในขณะที่เรา ๆ ท่าน ๆ ในฐานะประชาชนผู้ต้องเผชิญกับภาวะที่เริ่มวิกฤติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มองไม่เห็นและไม่รู้สึกว่าภาครัฐระดับประเทศและท้องถิ่นมีการตื่นตัวรณรงค์ วางแผน จัดสรรงบประมาณ และลงมือปฏิบัติเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ลองมาดูตัวอย่างกิจกรรมและมาตรการในต่างประเทศ เพื่ออาจจะใช้เป็นตัวอย่าง หรือพื้นฐานในการต่อยอดความคิดได้บ้างครับ

เครื่องจักรกลขนาดยักษ์สมชื่อ “แมมมอท”
เครื่องจักรกลขนาดยักษ์สมชื่อ “แมมมอท” หรือ “ช้างยักษ์ดึกดำบรรพ์” อยู่ที่ไอซ์แลนด์ จะทำหน้าที่ดึงคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนออกจากอากาศ ภาพโดย Francesca Jones, The New York Times

บนที่ราบสูงที่รับลมแรงแห่งหนึ่งที่ประเทศไอซ์แลนด์ ทีมวิศวกรและผู้บริหารนานาชาติกำลังเตรียมการเดินเครื่องจักรที่มีการทำนวัตกรรมออกแบบให้สามารถแปรเปลี่ยนองค์ประกอบของบรรยากาศโลกได้ ดังแสดงในรูปที่ 1 ตามแผนที่กำหนดและออกแบบไว้นั้น สุญญากาศปริมาตรมหึมาจะดูดเอาอากาศปริมาณมหาศาลเข้าไปในเครื่อง แล้วจัดการสกัดแยกเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อนออกมาฝังลงไปในชั้นหินดึกดำบรรพ์ใต้พิภพ

เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีที่พยายามจะแปรสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติในลักษณะเดียวกับเครื่องจักรกลดังกล่าวข้างต้นจะอยู่ในข่ายของงานวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ต้องลงทุนสูงมาก ยากในทางปฏิบัติ กึ่ง ๆ จะเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ทีเดียวละครับ แต่เมื่อระดับอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และโลกพลาดเป้าในการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทคโนโลยีที่เหมือนจะเพ้อฝันเหล่านี้ก็กลับมาเป็นที่สนใจในบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักลงทุนทั้งหลายอย่างฉับพลันทันที ทั้ง ๆ ที่ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัย

นักวิจัยบางกลุ่มกำลังศึกษาวิธีการต่าง ๆ ที่จะป้องกันรังสีบางส่วนจากดวงอาทิตย์ บางกลุ่มพยายามทดสอบว่าการเติมผงเหล็กลงไปในน้ำทะเลจะสามารถดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ให้จมลงไปสู่พื้นมหาสมุทรได้หรือไม่ บางกลุ่มพยายามวางแผนสร้างร่มขนาดใหญ่ในอวกาศ และด้วยอุปกรณ์ขนาดมหึมาในไอซ์แลนด์ นักวิจัยก็กำลังพยายามแสวงหาทางที่จะลดความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

อัลเบิร์ต กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทเด่นในการรณรงค์ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า ขณะที่เราได้ตระหนักถึงความชัดเจนและความเร่งด่วนของวิกฤติการณ์ภูมิอากาศนั้น “ผู้คนได้ตื่นขึ้นมาแล้วเร่งแสวงหาดูว่าจะมีเครื่องจักรกลวิเศษของพระเจ้าที่สามารถช่วยโลกให้พ้นภัยได้หรือไม่?”

นับจากยุคแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ได้มุ่งแสวงหาความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยปลดปล่อยก๊าซที่กักเก็บความร้อนที่เรียกกันคุ้นหูว่า “ก๊าซเรือนกระจก” ปริมาณมหาศาลเข้าสู่บรรยากาศ ผลลัพธ์ก็คือการกระทบกระเทือนต่อดุลยภาพที่บอบบางของบรรยากาศของโลก ทำให้เกิดการแปรสภาวะไปสู่ความเลวร้ายต่าง ๆ ทั้งความร้อนที่รุนแรง ความแห้งแล้งที่ยาวนานต่อเนื่อง และวาตภัยที่ยกระดับร้ายแรงขึ้นอย่างไม่บางเบาลง ส่งผลคุกคามอย่างหนักหนาสาหัสต่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ

และเมื่อความเสี่ยงและภัยคุกคามเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีการประกาศคำมั่นสัญญาจากผู้นำทางการเมืองและภาคเอกชนว่า จะช่วยกันรักษาระดับอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับเมื่อก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ในช่วงหลายเดือนท้าย ๆ ของปีที่ผ่านมานั้น อุณหภูมิของโลกได้สูงเกินกว่าระดับเป้าหมายไปแล้วในระยะเวลาที่สั้นกว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนได้คาดคะเนไว้ได้มีการคาดการณ์กันแล้วว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นกว่า 5 องศาเซลเซียสหรือกว่า 7 องศาฟาเรนไฮต์ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ทำให้คนให้น้ำหนักกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า “วิศวกรรมปฐพี” เพิ่มมากขึ้น แต่ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีนี้เห็นว่าน่าจะใช้ชื่อ “การแทรกแซงภูมิอากาศ” ที่ให้ความหมายชัดเจนกว่า ด้วยความหวังว่าการเดินหน้าไปตามแนวเทคโนโลยีกลุ่มนี้อาจจะช่วยซื้อเวลาเพื่อชลอความหายนะได้บ้างในขณะที่การบริโภคพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และไม่สามารถจะลด ละ เลิก การใช้พลังงานจากฟอสซิลได้เร็วทันเหตุการณ์

โรงงานดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
โรงงานดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์นี้จะใช้พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ ภาพโดย Francesca Jones, The New York Times

โครงการเกี่ยวกับการแทรกแซงภูมิอากาศดังกล่าวหลายโครงการยังมีข้อน่ากังขาอยู่มากครับ เช่น บริษัทน้ำมันขนาดยักษ์ใหญ่ชื่อ Occidental Petroleum กำลังสร้างโรงติดตั้งอุปกรณ์ในลักษณะคล้ายกับที่ไอซ์แลนด์แต่ขนาดใหญ่กว่ามากที่รัฐเท็กซัส โดยบริษัทตั้งใจจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนที่สกัดจับมาได้ในการขุดเจาะเอาน้ำมันออกมาจากใต้ดินให้มากขึ้น และการเผาไหม้น้ำมันเหล่านี้ก็เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตการณ์ในเบื้องต้น

การแทรกแซงภูมิอากาศโดยประดิษฐกรรมหรือวิธีการอื่น ๆ ก็ยังมีข้อสงสัยว่าจะกลับเป็นการเปิด “กล่องมหาภัย” หรือ Pandora’s Box ด้วยการทำให้รูปแบบของอากาศเกิดอาการปั่นป่วนหรือเพิ่มพูนความทุกข์ยากของมนุษย์โดยสร้างผลกระทบแบบไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ โดยการตั้งคำถามดัง ๆ ว่า มนุษย์เราควรจะทดลองกับสิ่งแวดล้อมแบบนี้หรือ? เรามีองค์ความรู้เพียงพอที่จะคาดคะเนความเสี่ยงได้ถูกต้องหรือไม่?

ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Rutgers, Alan Robock กล่าวว่า เราต้องการสารสนเทศมากกว่านี้เพื่อการตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ในอนาคตว่า การลงมือทำหรือไม่ลงมือทำนั้น อะไรจะเสี่ยงมากกว่ากัน

ยังมีกลุ่มที่คัดค้านซึ่งโต้ว่าเทคโนโลยีที่ดูเพ้อฝันและลงทุนสูงนั้นนอกจากจะสิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลาไปโดยสูญเปล่าแล้ว ยังทำให้คนทั่วไปหลงเข้าใจผิดไปว่าจะสามารถชลออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องลด ละ และเลิกการใช้พลังงานจากฟอสซิล

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากกลุ่มที่แหวกแนวลุยไปข้างหน้าอย่างไม่รอบคอบเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศเม็กซิโกเพิ่งจะห้ามใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งรังสีสุริยะหลังจากที่วิสาหกิจริเริ่มจากรัฐแคลิฟอร์เนียแห่งหนึ่งปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศในประเทศนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต

อีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ แทบจะไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ มาควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้เลยเนื่องจากความ “ใหม่” ของวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาจากแหล่งต่าง ๆ ในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ Marion Hourdequin แห่งสาขาปรัชญาสิ่งแวดล้อมที่วิทยาลัยโคโลราโดกล่าวว่า “มันยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ ใครจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะประสานการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเหล่านี้อย่างไรในอนาคต ต้องอย่าลืมว่าในอดีตที่ผ่านมานั้น เราไม่สามารถจะร่วมมือกันทั้งโลกเป็นช่วงเวลานาน ๆ ได้เลย”

Edda Aradottir หัวหน้าทีมบริหารของบริษัท Carbfix ในไอซ์แลนด์ทำงานร่วมกับวิสาหกิจริเริ่มของสวิสชื่อ Climeworks เพื่อทำโครงการแมมมอธหรือเครื่องอุปกรณ์ดักจับอากาศโดยตรงขนาดมหึมาที่เป็นเทคโนโลยีใหม่โดยใช้พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ และสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 36,000 เมตริกตันต่อปี แล้วสูบอัดลงไปในฐานที่เป็นแท่นหินที่อุปกรณ์ตั้งอยู่

ถึงแม้ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้จะเป็นเพียงหนึ่งในล้านของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาทั่วโลก แต่การอัดลงไปในชั้นหินนั้นต่างจากการดูดซับโดยต้นไม้ที่อาจถูกตัดโค่นหรือเกิดไฟป่าเผาผลาญ Climeworks ยืนยันว่าสามารถเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ชั่วนิรันดร์

ภายในแถวอาคารที่มีรูปลักษณ์เหมือนบังเกอร์ทหาร พัดลมขนาดยักษ์นับร้อยดูดอากาศเข้าสู่ภาชนะที่มีเมล็ดสารเคมีที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจะปล่อยก๊าซออกมาเมื่อถูกเผา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะผสมรวมกับน้ำแล้วสูบอัดลงไปใต้ดินลึกเกือบ 2 กิโลเมตร ซึ่งความดันที่สูงยวดยิ่งจะใช้เวลาหลายปีทำให้น้ำกลายเป็นของแข็ง ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “การก่อเกิดแร่” พูดง่าย ๆ ก็คือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จจะกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งของหินนั่นเอง

Edda Aradottir กล่าวว่า “กว่า 99% ของคาร์บอนในโลกเราเก็บกักอยู่ในหินในรูปแบบของแร่อยู่แล้ว หากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติก็จะใช้เวลานานมาก เราช่วยเร่งเวลาให้เร็วขึ้นนั่นเอง”

เมื่อแมมมอธเริ่มเดินเครื่องในอีกไม่นานนัก มันจะเป็นอุปกรณ์ดูดจับอากาศทางตรงที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าปริมาณคาร์บอนที่ดักจับได้จะเทียบเท่ากับหยดน้ำในถังเพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโลกปัจจุบันสูงถึงระดับ 36,000 ล้านตัน เมื่อปีที่ผ่านมา

โรงงานของบริษัท Occidental ที่กำลังสร้างอยู่ใกล้ ๆ เมือง Odessa มลรัฐ Texas ในชื่อ “สตราโตส” จะมีสมรรถนะมากกว่าแมมมอธกว่า 10 เท่า โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ สามารถดักจับและเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 500,000 เมตริกตันต่อปี

สตราโตสใช้กระบวนการที่แตกต่างจากแมมมอธในการสกัดเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แม้ว่าเป้าหมายจะเป็นอย่างเดียวกัน คือ คาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่จะกักเก็บไว้ใต้ดินลึก แต่บริษัทกล่าวว่า คาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนจะนำมาใช้ในการสกัดเอาน้ำมันจากหลุมขุดเจาะออกมาให้ได้มากขึ้น

ในกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปไล่เอาน้ำมันที่สูบขึ้นมาโดยวิธีอื่นได้ยาก เทคนิคดังกล่าวทำให้ Occidental เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ล้านเหรียญ และช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาสู่ระดับสูงสุดใหม่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

และน้ำมันที่เอาออกมานี้ก็ถูกเผาไปพร้อม ๆ กับเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ ทำให้ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับอันตรายเพราะมันจะทำหน้าที่เหมือนผ้าห่มที่กักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้โลกร้อนขึ้น ๆ นั่นเอง

Occidental อธิบายว่า ปัจจุบันนี้บริษัทพยายามทำหน้าที่เป็น “ผู้จัดการคาร์บอน” พร้อม ๆ กับการเป็นผู้ผลิตน้ำมัน ในปีที่ผ่านมาบริษัทจ่ายเงิน 1,100 ล้านดอลลาร์ ให้แก่วิสาหกิจตั้งต้นชื่อ Carbon Engineering ที่พัฒนาวิธีการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศและเริ่มทำโครงการ “สตราโตส” ในสถานที่ซึ่งเคยรกร้างแห่งหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันกำลังคึกคักเต็มไปด้วยอุปกรณ์การก่อสร้าง

Richard Jackson ผู้บริหาร Carbon Management และควบคุมโครงการก่อสร้างกล่าวว่า “มันก็คล้าย ๆ โครงการอพอลโลที่ NASA เลยละครับ เราพยายามที่จะเร่งงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ Occidental กล่าวว่าจะสร้างอุปกรณ์คล้าย ๆ กับสตราโตสอีก 100 แห่ง ที่แต่ละแห่งสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ล้านตันต่อปี โดยได้ทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนทางการเงินกับบริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกชื่อ BlackRock และทำข้อตกลงในการพัฒนาโรงงานดักจับอากาศโดยตรงกับบริษัท Adnoc ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

บริษัทยังได้วางแผนที่จะสร้างอุปกรณ์นี้อีก 30 แห่ง ที่ King Ranch ตอนใต้ของเท็กซัส โดยทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่อุดหนุนกองทุน 1,200 ล้านดอลลาร์ กับโครงการดักจับอากาศโดยตรง

บทความนี้ยังไม่จบนะครับ เชิญติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้าครับ

Source: By David Gelles, New York Times • Posted: Monday, April 1, 2024


ที่มา: อินทาเนีย ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 คอลัมน์ สะดุดฟันเฟือง โดย รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.15


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save